สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก Brexit

20160626_Brexit

วันศุกร์ที่ผ่านมา (ตามเวลาในเมืองไทย) ข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกคงหนีไม่พ้นผลการลงคะแนนประชามติให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Brexit (Britain + Exit = Brexit)

โดยผลก็คือคนโหวตให้ออกชนะไปฉิวเฉียด 51.9% ต่อ 48.1%

ก่อนวันประชามติ ต้องยอมรับว่าผมไม่ได้สนใจ Brexit มากนัก และแม้จะเป็นข่าวใหญ่ ก็ยังไม่มีความคิดจะเอาเรื่องนี้มาเขียนบล็อก

จนผมไปเจอโพสต์นี้ของคุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่แชร์มาจากทวีตของ @wmyeoh อีกทีหนึ่ง

ClrbygvWMAAHPfC

ตัวเลขนี้ไม่ใช่ผลประชามติ แต่เป็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นจาก 1652 คนว่าจะโหวต Remain (อยู่ต่อ) หรือโหวต Leave (ออกจากสหภาพยุโรป)

จะเห็นได้ว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่อยากให้อยู่ต่อ ขณะที่คนสูงอายุส่วนมากอยากให้ออก

คนที่โหวตให้ออก มีชีวิตเหลืออยู่ไม่กี่ปีแล้ว แต่ผลการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ กลายเป็นตัวตัดสินชะตาชีวิตให้กับคนหนุ่มสาว (ที่อยากอยู่ใจจะขาด) ไปอีกหลายสิบปีเป็นอย่างน้อย

เข้าทำนองคนใช้ไม่ได้(อยาก)ซื้อ คนซื้อไม่ได้(อยู่)ใช้

อันนี้คือผลโหวตจริงจากเว็บไซต์ของ BBC ครับ

_90081129_eu_ref_uk_regions_leave_remain_gra624_by_age

เป็นความขัดแย้งที่น่าสนใจ ทำให้ผมไปนั่งอ่านเรื่องเกี่ยวกับ Brexit อยู่หลายชั่วโมง

และนี่คือสิ่งที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ทำไมต้อง Brexit
สหภาพยุโรปนั้นเกิดขึ้นจากการสานสัมพันธไมตรีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้ (หลังจากที่รบกันมานานหลายศตวรรษ)

โดยประเทศที่เข้าร่วมสหภาพยุโรปนั้นจะสามารถซื้อขายสินค้ากันได้โดยไม่ต้องมีกำแพงภาษี ส่วนประชาชนก็สามารถไปทำงานที่ไหนหรือตั้งธุรกิจที่ไหนก็ได้ในสหภาพยุโรปโดยไม่ต้องขอวีซ่าหรือเวิร์คเพอร์มิท (work permit)

มองง่ายๆ ก็คือ สหภาพยุโรปจะทำตัวเหมือนประเทศประเทศหนึ่งที่คนในประเทศนั้นอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันและถูกปฏิบัติเหมือนกัน และสหราชอาณาจักรก็เป็นส่วนหนึ่งของ European Union มาสี่สิบกว่าปีแล้ว


แล้วทำไมประชามติคราวนี้จึงเกิดขึ้นได้?

ในปี 2012 ช่วงที่ David Cameron เป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติว่าจะให้ UK ออกจาก EU หรือไม่ (เพื่อความกระชับ ผมขอเขียน UK แทนสหราชอาณาจักร และ EU แทน European Union นะครับ) ซึ่งนายแคเมรอนปฏิเสธ แต่ภายหลังก็ประกาศว่า ถ้าพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกสมัย เขาจะจัดทำประชามติภายในปี 2017 เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกภาพของ UK นั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ

และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นายแคเมรอนก็ประกาศให้วันพฤหัสฯ ที่ 23 มิถุนายน 2016 เป็นวันลงประชามติเรื่องการจะอยู่ต่อหรือออกจาก EU (European Union) ครับ


ทำไมคน UK ถึงอยากออกจาก EU

United Kingdom หรือสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วยสี่ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สก๊อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยสี่ประเทศนี้มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันคือ David Cameron

เหตุผลที่คน UK อยากออกจาก EU มีหลายประเด็นด้วยกัน เช่น

เนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองใน EU เป็นรองเพียงเยอรมันนี คนอังกฤษหลายคนจึงมองว่าการอยู่ใน EU ร่วมกับประเทศที่เจริญน้อยกว่าหรือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทำให้ทำอะไรไม่คล่องตัว หรือพูดง่ายๆ ก็คือคนอังกฤษ (หรือคน UK) บางส่วนมองว่าบางประเทศใน EU ถ่วงความเจริญ

ประเด็นที่สอง เมื่อเข้าร่วม EU นั่นย่อมหมายความว่าประชาชนใน UK ต้องทำตามกฎหมายของ EU ด้วย ทำให้บางคนมองว่าการเข้าร่วม EU ทำให้สูญเสียสิทธิ์ที่จะได้บังคับใช้กฎหมายของตัวเอง คล้ายๆ กับสูญเสียอธิปไตย (sovereignty) บางส่วนไป จึงอยากได้สิทธิ์นั้นคืน

ประเด็นที่สาม วิกฤติผู้อพยพในช่วงปีที่ผ่านมา (ที่คนจากซีเรียหนีสงครามกลางเมืองเข้ามาในยุโรป) ทำให้คนบางส่วนเกรงว่าอังกฤษจะต้องแบกรับภาระผู้อพยพมากเกินไป และเชื่อว่า UK จะสามารถจัดการการล้นทะลักของผู้อพยพได้ดีกว่านี้ถ้าไม่ต้องเป็นสมาชิก EU

ประเด็นที่สี่ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่จากประเทศอื่นที่เศรษฐกิจไม่ดีนักได้ย้ายเข้ามาใน UK เพื่อหางานทำ ทำให้คน UK บางส่วนรู้สึกว่าประเทศกำลังสูญเสียอัตลักษณ์และสูญเสียแหล่งรายได้ให้กับคนของประเทศอื่น คนที่อยากให้ออกจึงรณรงค์โดยใช้วาทกรรมอย่าง “Take back control”, “We want our country back” และ “Britain is full”


ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นเพียงประชามติเท่านั้น น่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองปีเพื่อพูดคุยและแก้ไขกฎหมายให้ UK ออกจาก EU อย่างเป็นทางการ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วก็คือค่าเงินปอนด์ที่ตกลงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง

ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะหนักเบาอย่างไร แต่เท่าที่ผมอ่านจากหลายๆ ที่มีคนทำนายผลร้ายเอาไว้หลายอย่าง

  • ขนาดตลาดจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะสหภาพยุโรปมีประชากรถึง 500 ล้านคน
  • คน UK ที่ทำอยู่ใน EU และคน EU ที่ทำงานใน UK จะกลายเป็นคนต่างด้าวไปในทันที
  • การซื้อขายของรวมถึงการเคลื่อนย้ายของแรงงานจะไม่คล่องตัวเหมือนเดิมอีกต่อไป (เพราะจะมีกำแพงภาษี วีซ่า และเวิร์คเพอร์มิทมาทำให้การทำธุรกิจและจ้างงานยุ่งยากขึ้น)
  • บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทอาจจะย้ายสำนักงานจากลอนดอนไปที่เยอรมันนีแทน เพราะว่าอังกฤษไม่ได้อยู่ใน EU แล้ว ทำให้การทำงานกับประเทศอื่นๆ ยุ่งยากเกินไป*

ผลกระทบทางการเมือง
ผลกระทบทางการเมืองอาจใหญ่หลวงกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเสียอีก

  • เดวิด แคเมรอน ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว และมีแนวโน้มว่า Boris Johnson อดีตผู้ว่ากรุงลอนดอนซึ่งสนับสนุนให้ UK ออกจาก EU จะได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้แทน
  • สก๊อตแลนด์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ UK และประชาชนส่วนใหญ่โหวตให้อยู่ต่อ) อาจจะทำประชามติเพื่อขอแยกตัวออกจาก UK จะได้ขอกลับไปเป็นสมาชิกของ EU ได้
  • ประเทศอื่นๆ ใน EU อาจจะเริ่มขอออกจาก EU บ้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของ EU เหมือนกับที่เคยเกิดกับสหภาพโซเวียตมาแล้ว
  • มีคนบอกว่า Brexit มีนัยยะทางประวัติศาสตร์ในระดับเดียวกับการพังลงของกำแพงเบอร์ลินเลยทีเดียว

ความคล้ายคลึงกับการเมืองไทยและการเมืองอเมริกา
การโหวตคราวนี้สามารถแบ่งกลุ่มผู้โหวตได้ค่อนข้างชัดเจน

คนที่โหวตให้อยู่ต่อ มักจะเป็นคนอายุน้อยกว่า การศึกษาดีกว่า หรือมีฐานะดีกว่า (ถ้าดูกันเฉพาะในเมืองหลวงอย่างลอนดอน มีคนโหวตให้อยู่ต่อถึง 60%)

ขณะที่คนโหวตให้ออก มักเป็นคนสูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัดหรือตะเข็บชายแดน

และคนที่โหวต Remain ก็จะต่อว่ากลุ่มที่โหวต Leave ว่าขาดความเข้าใจในโลกาภิวัฒน์ ไม่ยอมใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง

ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายๆ คนอเมริกาที่กำลังกลัวว่า Donald Trump กำลังจะขึ้นมาเป็นประธานธิบดี

เท่าที่ผมได้อ่านใน Quora.com (ซึ่งมีแต่คนเก่งๆ เต็มไปหมด) ผมยังไม่เห็นใครชอบโดนัลด์ ทรัมป์เลย แต่ทรัมป์ก็มีคะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ จากคนที่ใครก็คิดว่าเป็นแค่ตัวสร้างสีสัน กลับได้ขึ้นมาเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งกับฮิลารี คลินตันจากพรรคเดโมแคร็ตแล้ว

โดยทรัมป์นั้นนมุ่งหาเสียงกับกลุ่มคนต่างจังหวัดหรือชาวรากหญ้า ใช้คำขวัญว่า Make America great again และเน้นนโยบายโดนใจคนบางกลุ่ม ทั้งๆ ที่มันไม่ยั่งยืน เช่นจะกีดกันไม่ให้มุสลิมเข้าประเทศเพื่อป้องกันการก่อการร้ายเป็นต้น

ประเทศไทยของเราก็เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ที่คนในกรุงเทพไม่ชอบพรรรคเพื่อไทย แต่คนต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน (ที่มีประชากรเยอะกว่า) กลับเทคะแนนให้

กรุงเทพกับลอนดอน โดนัลด์ทรัมป์กับทักษิณ

อาจแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน

ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งที่ว่า เสียงข้างมากบ่งบอกความต้องการได้ แต่บอกความถูกต้องไม่ได้


ความแตกต่างกับการเมืองไทย
สิ่งหนึ่งที่ประชาธิปไตยเต็บใบมอบให้ก็คือเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น

วีดีโอนี้คือการผลัดกันตอบคำถามของ David Cameron ผู้สนับสนุนให้อยู่ต่อ และ Nigel Farage หัวหน้าพรรค UKIP ผู้สนับสนุนให้ออกจาก EU

โดยทั้งสองคนจะได้เวลาคนละช่วงที่จะขึ้นมาบนเวทีเพื่อฟังและตอบคำถามกันสดๆ

เป็นการสู้กันแบบที่ผมเห็นว่าแฟร์ดี

แทบจะเป็นไม่ได้ ที่จะได้เห็นเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย อย่าว่าแต่ในยุคที่ปกครองโดยทหารเลย แม้กระทั่งยุคที่มีการเลือกตั้งกันเข้ามา ผมก็ยังไม่เคยได้เห็นบรรยากาศแบบนี้

 


ช่องโหว่ของเสียงข้างมาก

เมื่อวานคุณอาบรรยง พงษ์พาณิชได้แชร์ลิงค์บทความเรื่อง Britain’s Democratic failure  ของ Kenneth Rogoff ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ด

เขาได้ตั้งคำถามดังต่อไปนี้

การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ อย่างจะให้อังกฤษออกจาก EU นี่ แค่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งก็เพียงพอแล้วหรือ?

The idea that somehow any decision reached anytime by majority rule is necessarily “democratic” is a perversion of the term. Modern democracies have evolved systems of checks and balances to protect the interests of minorities and to avoid making uninformed decisions with catastrophic consequences. The greater and more lasting the decision, the higher the hurdles.

ความคิดที่ว่าการตัดสินอะไรด้วยเสียงข้างมากถือเป็นประชาธิปไตยแล้วถือเป็นประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว เพราะประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นได้สร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อปกป้องความต้องการของคนส่วนน้อย และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ปราศจากความรู้อันอาจนำไปสู่ผลอันเลวร้าย ยิ่งการตัดสินใจนั้นมีผลกระทบยิ่งใหญ่เท่าใด มาตรฐานยิ่งต้องสูงตามไปด้วย

ถ้าตัวเลขเกินกึ่งหนึ่งนั้นต่ำเกินไป ตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม?

There is no universal figure like 60%, but the general principle is that, at a bare minimum, the majority ought to be demonstrably stable. A country should not be making fundamental, irreversible changes based on a razor-thin minority that might prevail only during a brief window of emotion.

ไม่มีตัวเลขสากลอย่าง 60% หรอก แต่หลักการคร่าวๆ ก็คือ อย่างน้อยที่สุด “เสียงส่วนใหญ่” ที่ว่าควรจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่มีเสถียรภาพ การตัดสินใจใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศหนึ่งอย่างถึงแก่นและไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ไม่ควรจะตั้งอยู่บนชัยชนะแบบเส้นยาแดงผ่าแปดของคนกลุ่ม(ที่จริงๆแล้วเป็น)เสียงข้างน้อยที่ดันชนะเพราะอารมณ์ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

แล้วสิ่งที่ UK ควรจะทำตั้งแต่ต้นคืออะไร?

…the hurdle should have been a lot higher; for example, Brexit should have required, say, two popular votes spaced out over at least two years, followed by a 60% vote in the House of Commons. I

มาตรฐานควรจะสูงกว่านี้ เช่นอาจจะมีการทำประชามติสองครั้งโดยให้เว้นช่วงห่างกันสองปี ตามด้วยการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 60%

Any action to redefine a long-standing arrangement on a country’s borders ought to require a lot more than a simple majority in a one-time vote. The current international norm of simple majority rule is, as we have just seen, a formula for chaos.

การกระทำใดๆ ก็ตามที่จะส่งผลระยะยาวกับอาณาเขตของประเทศจำเป็นต้องใช้มากกว่าการโหวตหาเสียงข้างมากเพียงครั้งเดียว เพราะเราได้เห็นกันอยู่แล้วว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่โหวตครั้งเดียวจบนี้ เป็นหนทางสู่ความโกลาหลชัดๆ


ทำตัวเอง คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิ์
แม้ว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้อยู่ต่อ แต่ก็เป็นคนรุ่นใหม่เองนี่แหละที่ไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิ์

โดยวิธีการดูของเขาก็คือเขตที่อายุเฉลี่ยต่ำกว่ามีคนออกไปใช้สิทธิ์น้อยกว่าเขตที่อายุเฉลี่ยสูงกว่า

นั่นคือ จริงๆ แล้วถ้าคนรุ่นใหม่ “เอาธุระ” ซักนิด ไม่นิ่งนอนใจและออกไปโหวตให้อยู่ต่อ เรื่องราวอาจจะไม่วุ่นวายอย่างนี้ก็ได้


นิทาน Brexit สอนอะไรบ้าง?

สามบทเรียนหลักที่ผมได้จากการศึกษา Brexit คราวนี้คือ

  1. การใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจ ใช่ว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป หากว่าเรามีกระบวนการเพื่อให้ได้มาของเสียงข้างมากนั้นไม่แข็งแรงพอ
  2. ก่อนจะออกไปโหวต ในฐานะพลเมืองที่ดี เราควรศึกษาให้เข้าใจก่อนว่าเรากำลังจะโหวตเรื่องอะไร เพราะมันอาจจะกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา (หลังปิดโหวต Brexit ไปแล้วยังมีคนใน UK ถามกูเกิ้ลอยู่เลยว่า EU คืออะไร)
  3. เสียงของเรามีความหมาย จงออกไปใช้สิทธิ์ซะ อย่านิ่งดูดายและคิดว่า “ยังไงก็ชนะ” หรือ “ยังไงก็แพ้” จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังที่ปล่อยให้คนอื่นมากำหนดชะตาชีวิตของเรา

ขอบคุณผู้อ่านที่อุตส่าห์อ่านจนจบนะครับ!


หมายเหตุ

* ในส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตอนแรกผมมีเขียนประโยคนี้ไว้ด้วยครับ “วาณิชธนกิจ (investment bank) อย่าง Morgan Stanley ได้ประกาศแล้วว่าจะย้ายสำนักงานที่มีคน 2000 คนไปที่เมือง Dublin ในไอร์แลนด์”  แต่ได้รับการท้วงติงในคอมเม้นท์ว่ามอร์แกนสแตนลี่ย์ได้ออกมาประกาศแล้วว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง  


ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.bbc.com/news/uk-politics-32810887

http://www.bbc.com/news/uk-politics-36616028

http://www.bbc.com/news/uk-politics-eu-referendum-36574526

https://www.yahoo.com/news/brexit-sign-anti-elite-revolt-analysts-042053941.html

http://www.economist.com/blogs/graphicdetail/2016/02/graphics-britain-s-referendum-eu-membership

http://www.telegraph.co.uk/news/2016/06/22/20-reasons-you-should-vote-to-leave-the-european-union/

http://www.vox.com/2016/6/24/12025514/brexit-cartoon

http://mobile.nytimes.com/comments/blogs/krugman/2016/06/24/brexit-the-morning-after/

https://www.quora.com/pinned/United-Kingdom-Votes-to-Leave-the-EU-June-2016

https://www.project-syndicate.org/commentary/brexit-democratic-failure-for-uk-by-kenneth-rogoff-2016-06

https://www.washingtonpost.com/news/the-switch/wp/2016/06/24/the-british-are-frantically-googling-what-the-eu-is-hours-after-voting-to-leave-it/


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Banner468x60ver1

9 thoughts on “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก Brexit

  1. อ่านแล้วตลกจังเลยครับ…

    “ประเทศไทยของเราก็เจอเหตุการณ์อย่างนี้ ที่คนในกรุงเทพไม่ชอบพรรรคเพื่อไทย แต่คนต่างจังหวัด โดยเฉพาะอีสาน (ที่มีประชากรเยอะกว่า) กลับเทคะแนนให้

    กรุงเทพกับลอนดอน โดนัลด์ทรัมป์กับทักษิณ”

    แล้ว ที่คน กทม. เลือกผู้ว่า กทม.คนล่าสุด เพียงเพราะกลัวทักกี้ นี่คือ “เสียงคุณภาพ” หรอครับ???
    55555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555

    ถ้าจะโยงอย่างนี้ ดูมิติ คน กทม. ให้ครบถ้วนด้วยนะครับ แน่ใจหรอว่า คนใน กทม. นี่คุณภาพจริงๆ อิอิ นี่ยังไม่รวมการละเมิดสิทธิ์คนอื่นด้วยการปิดเขตเลือกตั้งนะครับ

    Like

  2. Theerachet C. / Sakan ขอบคุณมากครับ พอดีในบทความต้นทางมีพูดถึงแฟรงค์เฟิร์ทด้วยเริ่มสับสนไปหน่อย

    และขอบคุณคุณ Theerachet สำหรับข้อมูลอัพเดตเรื่อง Morgan Stanley ครับ จะลบทิ้งและใส่หมายเหตุไว้นะครับ

    Like

  3. อยากให้ พิจารณาอคติในตนเองก่อน ข้อสรุปข้อแรก ที่ว่าเสียงสวนใหญ่…….การออกจากEU ได้มีข้อพิสูจน์แล้วหรือวว่าไม่ดี

    การบอกว่าคนสูงอายุตัดสินอนาคต คนหนุ่มสาว ถ้าพิจารณาบ้านเราในขณะนี้ ใครเป็นคนตัดสินอนาคต มองอย่างง่ายๆ ใครร่างรัฐธรรมนูญ และใครพยายามรณรงค์รับไม่รับกันอย่างลำเอียง

    Liked by 1 person

  4. นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้การเปิดเวทีโต้ตอบในไทยมีปัญหา คือ การใช้แทคติคต่างๆ เช่น เชิญผู้ที่มีความรู้และเจนจัดเวทีน้อยกว่ามาโต้กับผู้ที่เหนือกว่า, ความเห็นและการตั้งคำถามของพิธีกร, การให้เวลาและการจัดลำดับคิวพูดและตอบคำถามก่อน-หลัง, ผู้โต้วาทีบางท่านได้รับสิทธิ์ให้ดูคำถามก่อนออกรายการ
    สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ และชี้นำผู้ชมได้

    Like

  5. ข้อเขียนข้อคิดดีนะครับ ขอบคุณครับ

    ประชาธิปไตยเรืิ่มและเติบโตขึ้นในสังคมเดี่ยวๆที่ไม่ซับซ้อน วาระที่ถกเถียงกันเป็นวาระที่สามารถพิจารณาผลที่ตามมาต่อสังคมนั้นๆได้ไม่ยากนัก เช่นการจัดเก็บถาษี การตัดสินใจประกาศสงคราม ฯ การใช้เสียงส่วนมากเชิงคณิตศาสตร์ประเภทหนึ่งคนหนึ่งเสียงมาตัดสินยังคงมีความเหมาะสม

    แต่ตอนนี้สังคมได้พัฒนาเพิ่มความซับซ้อนและความเกี่ยวพันกับสังคมอื่นๆมากขึ้น ประชามตินี้อาจจะทำให้เกิดความคิดเรื่องของคุณสมบัติของคนที่ควรจะมีสิทธิออกเสียง เช่นหากดูเผินๆ คนที่อายุมากแล้วจะอยู่กับผลของการตัดสินใจได้อีกไม่นาน แต่หากคนอายุมากแย้งว่าพวกเขาได้ทำงานหนักเสียภาษีรวมถึงออกรบมามากกว่าคนอายุน้อยกว่าแล้วทำไมจะต้องจำกัดสิทธิ

    ประว้ติศาสตร์ของทุกอารยธรรมยืนยันว่าเมื่อเจริญสูงสุดแล้วก็จะค่อยๆเสื่อมลง ประช่าธิปไตยแบบที่เรารู้จักกันอาจจะมาถึงจุดสูงสุดแล้วก็ได้ครับ

    Like

  6. นิสัยไม่เหมือนกันครับ แต่ที่ผมเห็นว่าเหมือนกันคือการหาเสียงของเขาตรงใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนต่างจังหวัดหรือคนที่มีรายได้ต่ำที่ออกจะเชื่อคนง่ายกว่าคนในเมืองหรือคนที่มีรายได้สูง ในขณะเดียวกันคนที่อยู่ในเมืองก็จะค่อนแคะเสียงเหล่านี้ว่าไร้เดียงสาและรู้ไม่เท่าทันความเลวร้ายของทักษิณ/ทรัมป์ครับ

    Like

  7. กรุงเทพจะเหมือนลอนดอนหรือเปล่าไม่ทราบนะคะ แต่โดนัลด์ทรัมป์ไม่เหมือนทักษิณสักนิด (ติดจะเหมือนลุงตู่มากกว่าด้วยซ้ำ)
    ข้อเขียนนี้ ให้ข้อมูลเยอะดี แต่รู้สึกเหมือนมี bias ในบางช่วงล่ะค่ะ :))

    Liked by 1 person

Leave a comment