โรงงานฝึกทาส

20151202_SlaveSchool

“โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยทั้งหลายมันเป็นแค่โรงงานฝึกทาส เพื่อสร้างทาสที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ระบบธุรกิจแบบทุนนิยม คนที่จบไปแล้วพร้อมทำงานหนัก พร้อมที่จะทำตามคำสั่งโดยไม่คิดถึงตัวเอง”

– โจน จันได

หนังสือ กลับบ้าน

ขอโทษที่หายไปนานครับ

ย้ายบ้านมาครับ

ไม่นึกเหมือนกันว่าการย้ายบ้านจะทำให้หยุดเขียนบล็อกไปได้นานขนาดนี้

ตอนที่เดินทางไปต่างประเทศ หรือภรรยาให้กำเนิดบุตรสาว ผมก็ยังหาเวลาเขียนบล็อกได้

แต่การย้ายบ้านครั้งหนึ่งนี่ใช้พลังงานมหาศาลจริงๆ หมดวันก็เหนื่อยจนคิดจนเขียนอะไรไม่ออกแล้ว

แต่ตอนนี้โอเคแล้วครับ แม้บ้านยังจะรกอยู่แต่ long weekend นี้น่าจะจัดการได้เรียบร้อย

—–

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า

โจน จันได คือหนึ่งในบุคคลที่ผมอยากเจอตัวเป็นๆ มากที่สุด

คุณโจนเป็นคนต่างจังหวัด แล้วเข้ามาหาอยู่หากินในเมืองกรุงเช่นเดียวกับคนต่างจังหวัดอีกหลายล้านคนในเมืองไทย

แต่ต่อให้ทำงานหนักแค่ไหน ก็ไม่มีวี่แววว่าชีวิตจะดีขึ้น

“ทำไมคนทำงานหนักมากแต่ยังอดอยากยากจน?
ผมถามคำถามนี้กับตัวเองมานานมาก เพราะทุกคนทำงานอย่างน้อย ๘ ชั่วโมงต่อวัน ผมเคยทำงานอย่างทุ่มเทโดยไม่มีวันหยุดเป็นปี ทำงาน ๘-๑๒ ชั่วโมงตัวต่อวัน เพื่อแลกกับค่าแรงถูกๆ แค่พอจ่ายค่าเช่าห้องแคบๆ ที่ร้อนอบอ้าว จ่ายค่าอาหารแย่ๆ ที่กินพอให้ชีวิตอยู่รอดไปวันๆ และข้าวของที่จำเป็นอื่นๆ สิ้นเดือนเงินก็หมด โอกาสที่จะเก็บเงินเป็นไปได้ยากมาก ชีวิตเหมือนเครื่องจักรที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่ต้องคิดถึงอนาคต ไม่ต้องคิดถึงความมั่นคงในชีวิต แค่ทำให้ชีวิตมันผ่านไปวันต่อวัน เพื่อที่จะได้ทำงานหนักในวันต่อไป เวลาผ่านไปเป็นเดือน เป็นปี ชีวิตก็ยังไม่มีอะไร ทุกอย่างเหมือนเดิม จำเจ ว่างเปล่า ไม่มีคุณค่าอะไรเลย”

ประโยคนี้ทำให้ผมนึกถึงแม่บ้านที่ออฟฟิศ ยามในหมู่บ้าน และคนงานก่อสร้างที่มาต่อเติมบ้านให้ผม

พวกเขาเหล่านี้คือคนที่เราต้องพึ่งพา พวกเขาทำงานหนักและเหนื่อยกว่าเรามาก แต่ชีวิตก็น่าจะยังตกอยู่ในวังวนของการชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะรายได้เขาน้อยกว่าเรา 5 เท่า แต่รายจ่ายของเขาแทบจะไม่ต่างจากเราเลย ไหนจะต้องส่งเงินกลับไปให้คนที่บ้านอีก

เมื่อคุณโจน จันได คิดได้แล้วว่า อยู่กรุงเทพต่อไปก็เปล่าประโยชน์ จึงเดินทางกลับภูมิลำเนา เริ่มค้นหารากของตัวเอง ฝึกทำบ้านดิน ปลูกผักเลี้ยงปลา และใช้ชีวิตแบบสมถะกับภรรยาและลูก

ไม่รวย แต่ได้เป็นนายของตัวเองในความหมายที่แท้

คุณโจนยังไม่ได้ส่งลูกเข้าโรงเรียนด้วย แต่ทำโฮมสคูลหรือให้พ่อแม่สอนหนังสือลูกอยู่ที่บ้านนั่นเอง

“โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยทั้งหลายมันเป็นแค่โรงงานฝึกทาส เพื่อสร้างทาสที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ระบบธุรกิจแบบทุนนิยม คนที่จบไปแล้วพร้อมทำงานหนัก พร้อมที่จะทำตามคำสั่งโดยไม่คิดถึงตัวเอง พร้อมที่จะต่อสู้แข่งขันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่คิดถึงความสงบสุขในชีวิต ไม่คิดถึงความอบอุ่นในครอบครัว ไม่มีสถาบันไหนสอนให้คนพึ่งพากันเอง สอนให้คนเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สอนให้คนใช้ชีวิตอย่างสงบสุข หรือใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อให้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

 

ผมเชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่ที่กำลังอ่านบล็อกนี้อยู่ก็ผ่านการศึกษาในระบบมาทั้งนั้น และก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณโจนพูดก็ได้

แต่ผมก็เชื่อว่าสิ่งที่คุณโจนพูดนั้นสามารถอธิบายปรากฎการณ์ในสังคมได้ดีในระดับหนึ่ง

ระบบการศึกษา -> แรงงานที่รับใช้ทุนนิยม -> คนต่างจังหวัดที่มารับงานหนักแต่รายได้ต่ำในกรุงเทพจึงไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก -> ปัญหาสังคมอื่นๆ ที่ตามมา

คนกรุงเทพฯ อย่างเราๆ ที่เรียนจบปริญญาตรีหรือโท ทำงานมีรายได้เกินเดือนละ 20,000 บาท อาจจะมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาของเราซะหน่อย

แต่ผมว่ามันเป็นปัญหานะครับ

เพราะจริงๆ แล้วเราพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย แม้กระทั่งคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวหรือคนที่บอกว่าตัวเองมีอิสรภาพทางการเงินก็เถอะ

สมมติว่าสงครามที่กำลังเกิดขึ้นระหว่าง ISIS และรัสเซีย/ฝรั่งเศส เกิดลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่สามอย่างที่โป๊ปฟรานซิสว่าไวัจริงๆ สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยน ตลาดหุ้นล่ม การจับจ่ายใช้สอยหยุดชะงัก ทุนต่างชาติไหลออก บริษัทเอกชนปิดตัว พวกเราตกงาน แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร?

ถ้าเราไม่มีเงินเดือน เราจะอยู่กันได้มั้ย? ถ้าไม่มีไฟมีน้ำใช้ซักเดือน เราจะอยู่กันได้มั้ย?

คนอย่างคุณโจน จันไดเขาอยู่ได้นะครับ เพราะระบบนิเวศน์ที่เขาสร้างขึ้นมาทำให้เขาแทบไม่ต้องใช้เงินหรือพึ่งพาปัจจัยภายนอกเลย

แต่สำหรับคนกรุงเทพอย่างผม อย่าว่าแต่ไม่มีไฟใช้เลย แค่ไม่มีเน็ตใช้ก็แทบจะลงแดงตายแล้ว

ไม่ได้จะชวนทุกคนไปขุดบ่อเลี้ยงปลานะครับ

แค่ชวนให้ตั้งคำถามเฉยๆ ว่าเรากำลังเดินมาถูกทางแค่ไหน

และถ้ามันยังไม่ใช่ทางที่ควรจะเป็น เราเองจะทำอะไรได้บ้าง

—–

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก:
หนังสือ กลับบ้าน โดย โจน จันได
Thai Publica: โฮมสคูล”บ้านเรียน” การศึกษาทางเลือก
BBC: Pope Francis warns on ‘piecemeal World War III’

ภาพจากกล้องมือถือผู้เขียน ถ่ายเมื่อวันที่ 2/12/2558

Box1B_300x250

13 thoughts on “โรงงานฝึกทาส

  1. Pingback: สอนปลาให้ปีนต้นไม้ | Anontawong's Musings

  2. อ่านละผมเห็นด้วยนะครับ
    รู้สึกมานานแล้ว

    Like

  3. ผมว่าข้อความเดิมยังใช้ได้อยู่นะ

    “โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยทั้งหลายมันเป็นแค่โรงงานฝึกทาส เพื่อสร้างทาสที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ระบบธุรกิจแบบสังคมนิยม คนที่จบไปแล้วพร้อมทำงานหนัก พร้อมที่จะทำตามคำสั่งโดยไม่คิดถึงตัวเอง”

    – ไดจัน โจน

    ในระบบสังคมนิยมนั้น จะมีก็แต่เฉพาะระบบสังคมนิยมอุดมคติ ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้อย่างเท่าเทียมและสมดุล เพราะในความจริงแล้ว โรงเรียนในระบบสังคมนิยม ย่อมออกแบบและปลูกฝัง ให้เยาวชน มีความเชื่อมั่นในผู้นำและไม่คัดค้านหรือออกเสียง มิเช่นนั้นแล้ว ระบบจะพังทลายในที่สุด เมื่อมีผู้เห็นต่างเข้ามา

    ในมุมมองของผมนั้น ผมมองว่าทุนนิยมเปิดโอกาสมากกว่าสังคมนิยม เพราะคนที่มุ่งมั่น ขยัน อดออม ก็ยังพอที่จะก้าวข้ามไปสู่ระดับที่สูงได้ ทั้งนี้ต้องอาศัย แนวคิด จินตนาการ ความกล้าแสดงออกในทางที่ดี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งหวังไว้

    Liked by 1 person

  4. ต้องย้อนกลับไป ยังนิยาม ชีวิต เกิดมาเพื่ออะไร… ถ้าเลือกแล้ว ก็ไปตามนั้น.. ส่วนลูก ควรจะ วางกลางๆให้เค้า ให้เค้ามีทางเลือก สามารถเลือกทางได้เอง…. ไม่ทำลายความสามารถในการเลือกของลูก

    Like

  5. การผ่านกระบานการศึกษามาต่างหากทำให้คิดได้..ว่าเราควรอยู่ตรงไหน

    Like

  6. ผมว่าไม่มีใครผิดแล้วก็ไม่ใครถูกต้องทุกอย่าง.. มันอยู่ที่การใช้ชีวิตของแต่ละคนว่าคุณมีความสุขกับตรงไหนอย่างไรมากกว่า.. สงครามเกิดแล้วไงล่ะ..? ผมก็ยังเชื่อว่าถ้าสงครามเกิดไม่ว่าจะหนักขนาดไหนก็จะมีคนกลุ่มนึงที่มีความสุขกับการขายอาวุธให้คนอื่นเอาไปฆ่ากัน.. สงครามคือการแบ่งข้างแล้วไล่ฆ่ากันระหว่างฝั่งaกับb.. เมื่ออสงครามจบฝั่งไหนชนะฝั่งนั้นก็มีความสุข.. นั่นเท่ากับคนครึ่งโลกกำลังจะมีความสุข…ถึงมันจะเป็นความสุขบนความทุกข์​ของตนและของคนอื่นก็เถอะแต่มันก็ยังถูกเรียกว่าความสุข.. ระบบทุนก็เช่นกันระบบนี้เป็นโลกของหมากินหมาคุณไม่ฆ่าเค้าๆก็จะฆ่าคุณๆไม่เหยีบเค้าขึ้นไปเค้าก็เหยีบคุณๆไม่กินเค้าๆก็จะกินคุณแทน.. ในสังคมแบบนี้ก็ยังมีบางคนที่มีความสุขกับมันได้ใครไม่ชอบก็ไปใช้ชีวิตสงบๆตามแบบของคุณแล้วคุณก็จะมีความสุข.. ชีวิตง่ายๆคือทางใครทางมันไม่ต้องไปทำอะไรตามใคร​ ทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำไป..แค่ไม่ผิดกฎหมายที่สังคมวางไว้ก็พอ.. ใครไม่เห็นด้วยก็ไปทางอื่น… เคารพความคิดกัน.. ปรึกษากันคุยกัน.. ความช่วยเหลือมีให้กัน.. ไม่ทำร้ายกัน.. เท่านี้ก็น่าจะพอแล้วสำหรับชีวิต… กับการตามหาความสุขในชีวิต​….. ^ ^

    Like

  7. เศรฐกิจพอเพียงของ ”ในหลวงไงครับ”

    ลองคิดดูเฉยๆนะครับ
    ” ถ้าคนในประเทศไทยใช้ระบบเศรฐกิจพอเพียงหมดเลย ผมว่าคงทำให้ประเทศไทย ระดับความสุขเพิ่มขึ้น
    เพราะไม่ต้องแก่งแย่ง ไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องแบกอะไรหลายอย่าง ”

    แต่สุดท้ายทั้งหมดที่ ในหลวงและ คุณโจน จันได กล่าวไว้ เข้าทฤษฎีของ ”พระพุธเจ้า” คือ ความพึงพอใจให้สิ่งที่มี

    สุดท้ายไม่ว่าจะระบบไหนในสังคม แค่มีคำว่า ”พอ” ก็สามารถมีความสุขได้ครับ

    Like

  8. ผมว่าแบบนั้นมันก็ไม่ถูก เขาไม่ได้อยู่ในจุดที่เราเป็น แล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่เขาเป็น ถ้าเขาผ่านเทคโนโลยีกระบ่มเพาะของชุดความคิดที่แตกต่างออกไป เขาก็จะไม่มีความคิดแบบนี้หรอกครับ อะไรคือทาส ทำไมถึงเรียกทาส มันเป้นการทำงานเพื่อแลกเงินทั้งสิ้น สิ่งที่เขาทำก็แลกเงิน เพียงแต่มุมมองของเขามองในจุดที่เหนือกว่า ใช้จ่ายน้อย พออยู่พอกิน ชีวิตที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ผมว่ามันเป็นนามธรรมที่จับต้องได้ก็ได้จับต้องไม่ได้ก็ได้ เป็นวลีฮิตที่คนมีอิธิผลทางความคิดชอบพูดกัน มันทำให้ดูเท่ การจะทำแบบนั้นได้ ตัวเองต้องขจัดกิเลสที่ครอบงำจนหมดสิ้น และกลับไปดื่มด่ำลงสู่วิถีชีวิตที่ตัวตนฝืนต้องการ ทุกคนมีความสุขต่างกันและคุณก็ผ่านการศึกษามาเหมือนกัน การสอนผมว่าควรเป็นเหตและผลมากกว่ายัดเยียดชุดความคิดตัวเองลงสู่ผู้อื่น แค่มาและผ่านไป ผมไม่ได้มีความคิดขัดแย้ง โลกนี้มันเทาๆ อยู่แล้ว

    Like

  9. การศึกษาในระยมันล้มเหลว ทำให้มนุษย์เกิดความเห็นแก่ตัว การแขงขัน ((มนุษย์ ผมเชื่อว่ามนุษย์มีแค่3ประการ เกิดมา สืบพันธุ์ แล้วตาย ผมว่าพี่โจน จันได เจ๋งในระดับหนึ่งของการใช้ชีวิต))

    Like

  10. Pingback: ความงดงามของทุนนิยม | Anontawong's Musings

  11. สังคมและการแข่งขันต่างหากที่ทำให้คนไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่การศึกษาและสถาบัน

    Like

  12. ผ่านมาอ่านคอมเม้นท์ในนี้โดยบังเอิญ ในฐานะที่เคารพพี่โจนที่เป็นผู้สร้างอิสระให้กับตนเองแบบหนึ่ง และหาคำตอบให้กับชีวิตของตนเองได้แบบหนึ่งโดยไม่พึ่งพาระบบทุนนิยม ผมเชื่อว่าสิ่งที่พี่โจนทำเป็นคำตอบที่ชัดเจนแบบหนึ่งที่นำพาชีวิตต่อไปข้างหน้าได้ชัดเจน แต่อ่านบทความแล้วมีติดใจอยู่บ้างกับการตั้งคำถามที่ไม่ครบและดูชี้นำเล็กน้อย…

    ถ้าโลกเกิดสงคราม ระบบทุนนิยมล่มสลาย…พี่โจนอยู่ได้ คนอื่นจะเป็นอย่างไร…น่าคิดดีครับ แต่คำถามสุดโต่งระดับนี้ผมว่ามันก็พอๆ กับถามพี่โจนว่า แล้วถ้าโลกหมุนเวียนไปจนระบบทุนนิยมครอบทุกแห่ง “จนไม่เหลือพื้นที่ให้กับชีวิตง่ายๆ ล่ะ” อันนี้ไม่ได้ดูถูกวิถีชีวิตพี่โจนนะครับ เป็นมุมมองที่ผมชื่นชอบด้วยซ้ำว่าทำไมต้องทำให้ชีวิตมันยาก คนในสังคมทุนนิยมชื่นชอบที่จะทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากเกินไปหรือเปล่า…

    แต่ถ้าโลกมันยากระดับที่การศึกษาโฮมสคูลไม่ถูกยอมรับเลยแม้แต่นิดเดียวในสังคมล่ะ? ถ้าพื้นที่เกษตรทุกมิลลิเมตรถูกครอบคลุมด้วยระบบนายทุนล่ะ? ถ้าสงครามโลกที่สู้กันด้วยอาวุธที่ทำลายร้างระบบนายทุนเกิดขึ้นได้จริง สงครามโลกที่สู้กันด้วยทุนจนพื้นที่เสรีไม่เหลือล่ะ….ก็ฝากเป็นคำถามกลับข้างกันละกันครับ

    ผมเขียนข้อแย้งนี้ไม่ใช่ผมอยากโจมตีอะไรพี่โจน ตัวผมเองค่อนข้างศรัทธาระบบโฮมสคูลและหลายๆ มุมมองของพี่โจน (มีญาติที่อยู่ในระบบนี้ด้วย) แต่ผมอยากนำเสนอให้ครบทั้งสองด้านว่ามันยากที่จะตัดสินอะไรว่าถูกต้อง กาลเวลาจะเป็นคนบอกกับเราเสมอๆ แล้วความคิดที่ถูกต้องก็มักจะถูกต้องเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นอีกต่างหาก…ก็คงฝากเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นละกันครับ

    Liked by 2 people

Leave a comment